รู้หรือไม่ ? ทำไมตั๋วเครื่องบินมีราคาถูก-แพง ในบางช่วง
คุณรู้หรือไม่ ? ทำไมตั๋วเครื่องบินมี ราคาถูก- แพง ในบางช่วง
การจองตั๋วเครื่องบินแต่ละครั้ง หลาย ๆ คนอาจใช้เวลานานเพื่อหา ตั๋วเครื่องบินที่รู้สึกว่าคุ้มค่ามากที่สุด ยิ่งจองตั๋วล่วงหน้านานเท่าไร ยิ่งได้ตั๋วราคา ประหยัด หรือถ้าตัดสินใจช้าเพียงเล็กน้อย ก็อาจได้ ราคา ตั๋วที่เพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว เรียกได้ว่า ราคา ตั๋วเครื่องบินขยับขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ตั๋วเครื่องบิน ใน 1 เที่ยว มี ราคา แตกต่างกัน ? เรื่องนี้ CAAT มีคำตอบค่ะ
ตั๋วเครื่องบิน ถูกกำหนด ราคา ด้วยหลัก Dynamic Pricing คือการตั้งราคาแบบยืดหยุ่นตามความต้องการของกลุ่มลูกค้า โดย ราคา สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะปริมาณความต้องการเดินทางของผู้โดยสารในแต่ละช่วงเวลาและระดับการแข่งขันของสายการบินในเส้นทางต่าง ๆ ซึ่งจะนำปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาร่วมกับ ต้นทุนการให้บริการ ก่อนกำหนดเป็น ราคา ตั๋วแต่ละที่นั่ง โดยใน 1 เที่ยวบินจะมีราคาตั๋วที่แตกต่างกัน ไล่ระดับ ราคา เป็นขั้นบันได หรือที่เรียกว่า Fare Class โดย ราคา ตั๋วจะมีกี่ระดับขึ้นอยู่กับการบริหารรายได้ (Revenue Management) ของแต่ละสายการบิน ซึ่งสายการบินมักส่งเสริมการขายด้วยการปล่อยตั๋วโปรโมชันที่มีราคาถูกออกมาก่อน แต่ตั๋วราคานี้จะมีจำนวนจำกัด เมื่อตั๋วราคาถูกขายหมดไป ราคาตั๋วก็จะขยับสูงขึ้นตามระดับความต้องการซื้อและต้นทุนค่าบริการที่สายการบินตั้งไว้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การจองตั๋วเครื่องบินในระยะเวลากระชั้นชิดกับวันที่ต้องการเดินทาง มักจะเหลือตั๋ว ราคา แพง ในขณะเดียวกัน กลไก Fare Class นี้เองก็ทำให้สายการบินสามารถตั้ง ราคาตั๋วโดยสารได้หลายระดับ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น
จากพฤติกรรมการซื้อตั๋วเครื่องบิน สามารถแบ่งกลุ่มผู้โดยสารออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกเรียกว่า Leisure Travelers คือกลุ่มผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยว ผู้โดยสารกลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวต่อ ราคาตั๋วและมักจะวางแผนการเดินทางล่วงหน้าเพื่อซื้อตั๋ว ราคาถูก กลุ่มที่สองคือกลุ่ม Business Travelers คือกลุ่มผู้โดยสารที่เดินทางเพื่อทำธุรกิจหรือทำงาน ผู้โดยสารกลุ่มนี้จะซื้อตั๋วก่อนเดินทางไม่นาน มักต้องการตั๋วที่มีความยืดหยุ่น เช่น สามารถเปลี่ยนแปลงวันเดินทางได้ สามารถยกเลิกการเดินทางได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เป็นต้น ซึ่งตั๋วที่มี ราคาสูงจะตอบโจทย์ผู้โดยสารกลุ่มนี้
ต้องยอมรับว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง มีปริมาณความต้องการเดินทางภายในประเทศสูงขึ้นมากทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวชาวไทย ในขณะที่สายการบินยังฟื้นตัวได้ต่ำกว่าระดับการให้บริการในปี 62 ทำให้ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินเพื่อรองรับปริมาณความต้องการได้เพียงพอ จึงเกิดสถานการณ์ที่ผู้โดยสารหลายคนต้องซื้อตั๋วที่นั่งใบท้าย ๆ ที่มี ราคาสูง โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว ซึ่งที่ผ่านมา CAAT ได้เร่งกระบวนการอนุมัติ/อนุญาตให้สายการบินสามารถจัดหาอากาศยานเพิ่มเติมให้รวดเร็วขึ้น และผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สายการบินสามารถจัดหาอากาศยานมาใช้เพิ่มเติมและทันต่อความต้องการเดินทางของผู้โดยสาร
และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสารและควบคุมไม่ให้ค่าโดยสารสูงจนเกินไป โดยเฉพาะช่วงที่ประชาชนมีความต้องการเดินทางสูง คณะกรรมการการบินพลเรือนจึงมีประกาศเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งในเส้นทางบินภายในประเทศ พ.ศ. 2561 ซึ่งได้กำหนดเพดาน ราคาค่าโดยสารขั้นสูงสุดไว้ (ไม่รวมค่าบริการเสริม ค่าธรรมเนียม และภาษี) ผู้โดยสารสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ https://www.caat.or.th/th/archives/36895 และ CAAT ในฐานะหน่วยงานกำกับ ดูแล ควบคุม และส่งเสริมการดำเนินงานของกิจการการบินพลเรือนให้เป็นไปตามกฎระเบียบและมาตรฐานสากล มีบทบาทในการติดตามตรวจสอบ ราคาค่าโดยสารเครื่องบินไม่ให้เกินเพดานที่กำหนด และหากผู้โดยสารพบ ราคาตั๋วเครื่องบินที่เกินเพดานค่าโดยสารสามารถร้องเรียนมาที่ CAAT ผ่านเว็บไซต์ www.caat.or.th/complaint/
การจองตั๋วเครื่องบินแต่ละครั้ง นอกจากผู้โดยสารจะพิจารณาเรื่อง ราคาตั๋วแล้ว CAAT อยากให้ท่านอ่านรายละเอียดเงื่อนไขการสำรองที่นั่งและซื้อบัตรโดยสารของสายการบินอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้การเดินทางราบรื่นและถึงที่หมายอย่างปลอดภัยค่ะ
__________________________________________
ข้อมูลจาก
กองกำกับนโยบายและมาตรฐานทางเศรษฐกิจการบิน
ฝ่ายกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย